“ผมกล้าเรียกมันว่าทินเดอร์สำหรับนักฟุตบอลและสโมสร” เรเน อาดเลอร์ อดีตผู้รักษาประตูทีมชาติเยอรมันกล่าว
ตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนาน ฟุตบอลมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และไม่ใช่แค่ในสนามเท่านั้น เรื่องราวนอกสนามก็มีการพัฒนาและปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการซื้อขายนักเตะ
ไม่ว่าจะเป็นการลงทะเบียนในช่วงเริ่มแรกของการก่อตั้งลีก กฎบอสแมน ตลาดซื้อขายที่มีเวลาเปิดปิดเป็นช่วง ไปจนถึงเทรนด์ล่าสุดในยุคโควิดที่เน้นยืมก่อนซื้อขาด
อย่างไรก็ดีในปี 2021 วงการฟุตบอลก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง หลังการมาถึงของ แพลตฟอร์มซื้อขายนักเตะแบบดิจิตอลที่ถูกเรียกว่าทินเดอร์แห่งวงการฟุตบอล
ชีวิตที่ควบคุมไม่ได้
ปฏิเสธไม่ได้ว่า เอเยนต์ กลายเป็นอาชีพที่ทรงอิทธิพลอย่างมากในวงการฟุตบอลในช่วงหลัง เมื่อนักเตะส่วนใหญ่เลือกจะใช้คนกลุ่มนี้เป็นผู้เจรจา ทั้งการเจรจาสัญญา คุยกับสปอนเซอร์ รวมถึงการหาต้นสังกัดใหม่
แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องดีที่จะให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นคนพูดคุยเรื่องเหล่านี้ โดยนักฟุตบอลจะได้ทำหน้าที่คือการลงเล่นเพียงอย่างเดียว แต่สำหรับบางคนกลับมองว่าการมีอิทธิพลเกินไปของพวกเขาทำให้นักเตะถูกครอบงำและไม่ได้เลือกเส้นทางของตัวเอง
เรเน อาดเลอร์ คือหนึ่งในนั้น อันที่จริงเข้ามีเส้นทางชีวิตที่รุ่งโรจน์ตั้งแต่สมัยเยาวชน ด้วยการแจ้งเกิดกับ ไบเออร์ เลเวอร์คูเซน ตั้งแต่วัย 20 ต้น ๆ ก่อนจะก้าวขึ้นมาเป็นมือหนึ่งของทีมชาติเยอรมัน หลังการจากไปของ โรเบิร์ต เองเค ในปี 2009
อย่างไรก็ดีโชคร้ายที่ก่อนฟุตบอลโลก 2010 จะเริ่มต้นเพียงไม่กี่เดือน เขาก็มาได้รับบาดเจ็บหนักจนหลุดออกจากทีมชาติ รวมทั้งถูก มานูเอล นอยเออร์ ที่อายุน้อยกว่าเขา 1 ปีแย่งตำแหน่งมือหนึ่งของเยอรมันไปอย่างเจ็บปวด
หลังจากนั้น อาดเลอร์ ก็ไม่เคยเหมือนเดิมอีกเลย แม้ว่าจะย้ายไปเล่นให้กับ ฮัมบูร์ก หรือ ไมนซ์ 05 แต่ก็กลายเป็นแค่ผู้รักษาประตูระดับกลาง ๆ และได้ลงเล่นทีมชาติอีกแค่เพียง 2 นัด (รวมทั้งหมด 12 นัด) ก่อนจะแขวนถุงมือไปในปี 2019
จริงอยู่ที่อดีตนายทวารทีมชาติเยอรมันจะมีผลงานที่ไม่เลวในระดับสโมสร จากการลงเล่นไปถึง 269 นัด แต่ตัวเขาเองกลับมองว่าเขาน่าจะไปได้ไกลกว่านี้ และควรจะมีเส้นทางอาชีพที่ออกแบบด้วยตัวเองได้ แทนที่จะไปฝากทุกอย่างไว้กับเอเยนต์
“ในฐานะผู้เล่นคุณจะมีมุมมองที่จำกัด ดังนั้นคุณจึงต้องพึ่งพาเอเยนต์หรือที่ปรึกษา และคุณต้องเชื่อใจพวกเขา เพราะคุณไม่มีเครื่องมือในการสร้างภาพลักษณ์ของตัวเอง” อาดเลอร์
“แน่นอนมันมีทั้งเอเยนต์ที่ดีและไม่ดีที่เห็นแก่ตัว ในฐานผู้เล่นคุณจะไม่เคยสังเกตเห็นความแตกต่างนี้ นอกสนาม คุณจะไม่สามารถควบคุมมันได้ เราจึงอยากจะทำให้ผู้เล่นมีอำนาจมากขึ้น”
นั่นทำให้เขาและเพื่อนออกแบบแพลตฟอร์มที่มีชื่อว่ ขึ้นมา
ทินเดอร์แห่งวงการฟุตบอล
เควิน เดอ บรอยด์ ดาวเตะแห่งแมนเชสเตอร์ ซิตี้ และ โจชัวร์ คิมมิช ของบาเยิร์น มิวนิค อาจจะเป็นดาวดังระดับโลกที่ดำเนินธุรกิจต่างจากนักเตะทั่วไป เมื่อพวกเขาเลือกที่จะไม่ใช่เอเยนต์และเจรจาสัญญาด้วยตัวเอง
แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ทำอย่างพวกเขาได้ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้
หลายสโมสรต้องรัดเข็มขัด จนทำให้การพูดคุยเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ หรือค่าตอบแทนยากขึ้นไปอีก
และมันก็ทำให้ อาดเลอร์ อาสาที่จะเข้ามาเป็นตัวช่วยในสถานการณ์นี้ ด้วยการเปิดตัว แอปพลิเคชันจับคู่ระหว่างนักเตะและสโมสร ที่เขาบอกว่ามันเป็นเหมือน ทินเดอร์ แห่งวงการฟุตบอล
“ผมกล้าเรียกมันว่าทินเดอร์สำหรับนักฟุตบอลและสโมสร เพราะเรานำทั้งสองฝ่ายมาเจอกันผ่านการจับคู่” อาดเลอร์
“ชัดเจนว่าผู้เล่นอยากจะดูแลสิ่งที่เกี่ยวข้องกับตัวเองมากขึ้น และไม่อยากทำงานโดยพึ่งพิงที่ปรึกษาไปจนหมด
“แต่ไม่ใช่ว่านักเตะอาชีพทุกคนจะเป็นเหมือนดาวดังอย่าง โจชัวร์ คิมมิช หรือ เควิน เดอ บรอยด์ ที่เจรจาสัญญาด้วยตัวเองและเลือกข้อเสนอได้อย่างที่พวกเขาต้องการ”
วิธีใช้งานก็คล้ายกับแพลตฟอร์มจับคู่ทั่วไป สำหรับนักฟุตบอลพวกเขาต้องเข้าไปกรอกข้อมูลของตัวเองในแอปฯ ทั้งสถานะของสัญญา (หมดสัญญาหรือเหลือระยะสัญญาอีกกี่เดือน) ลีกที่อยากจะย้ายไป สไตล์การเล่น และเงินเดือนที่ต้องการ โดยไม่จำเป็นต้องระบุว่าตัวเองเป็นใคร
เช่นเดียวกับสโมสร พวกเขาก็ต้องทำในลักษณะเดียวกัน โดยมีส่วนที่ต่างคือพวกเขาจะมีตัวกรองช่วยค้นหานักเตะตามคุณสมบัติที่พวกเขาต้องการ อย่างเช่นตำแหน่งการเล่นเป็นต้น
ทว่าสิ่งสำคัญคือนักเตะที่ลงทะเบียนได้จะต้องเป็นผู้เล่นระดับอาชีพและมีสัญญากับทีมชุดใหญ่ของสโมสรแล้วเท่านั้น (สัญญาเยาวชนยังไม่รองรับ) อย่างลีกอังกฤษก็คือพรีเมียร์ลีกจนถึงลีกทู หรือเยอรมันก็ตั้งแต่บุนเดสลีกา ไปจนถึงลีกระดับ 4 ที่ชื่อ
และเมื่อข้อมูลทั้งหมดได้รับการยืนยันความถูกต้องแล้ว แอปพลิเคชันก็จะนำข้อมูลมาประมวลผลและชั่งน้ำหนัก โดยอิงจากระดับของสโมสรและลีกในปัจจุบัน แล้วค่อยจับคู่นักเตะกับสโมสรให้มาเจอกัน
หากทั้งนักเตะและสโมสรต่างสนใจกันและกัน พวกเขาจะต้องกดปุ่ม คล้ายกับการปัดขวาในทินเดอร์ จากนั้นทั้งสองฝั่งก็จะเปิดเผยตัวและสามารถเริ่มต้นพูดคุยกันในเรื่องสัญญาได้
ถ้าการแมตช์ครั้งนี้นำไปสู่การย้ายทีม สโมสรที่เป็นผู้ซื้อจะต้องจ่ายค่านายหน้าตามคำแนะนำของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือฟีฟ่า (ราว 3% ของค่าเหนื่อยนักเตะ) ให้กับแพลตฟอร์ม ส่วนฝั่งนักเตะนั้นไม่มีค่าใช้จ่าย
และ อาดเลอร์ หวังว่ามันจะเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยเหลือเพื่อนร่วมวงการของเขาได้
เพิ่มความโปร่งใส
อดีตผู้รักษาประตูทีมชาติเยอรมันย้ำว่าเขามีที่ปรึกษาที่มีความสามารถและเชื่อถือได้ในอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งประกอบไปด้วยผู้คนในหลากหลายอาชีพทั้ง ผู้จัดการทีม นักกฎหมาย ไปจนถึงผู้เชี่ยวชาญในตลาดซื้อขายนักเตะ
“ด้วยการที่ภูมิหลังของผมเป็นนักกฎหมาย ผมพบว่ามีความไม่โปร่งใสมากมายในตลาดฟุตบอล และมีผู้เล่นเพียงน้อยนิดที่สามารถควบคุมสถานการณ์การย้ายทีมของตัวเองได้” ดาเนียล โชลเมเยอร์ ผู้ร่วมก่อตั้ง
“ผมบอกเรื่องนี้กับเรเน และหลังจากนั้นเราก็เริ่มสร้างมันขึ้นมาเมื่อ 1 ปีก่อน”
แนวคิดหลักของแอปฯ คือการทำหน้าที่เป็นช่องทางในการสื่อสารโดยตรงระหว่างสโมสรและนักเตะและช่วยให้การเจรจาง่ายขึ้น โดยไม่ต้องพึ่งเอเยนต์หรือที่ปรึกษาจากภายนอกเลย สิ่งนี้จะทำให้ตลาดนักเตะมีความโปร่งใสมากขึ้น
“การขาดความโปร่งใสในตลาดซื้อขายทำให้นักเตะมีความเสียเปรียบมาก เราอยากให้พวกเขาคว้าโอกาสนี้ และควบคุมอาชีพของตัวเองไว้ให้ได้” อาดเลอร์ กล่าวต่อ
ขณะเดียวกัน ตัวแอปฯ ยังคำนึงถึงความเป็นส่วนตัว โดยเฉพาะการทำให้สโมสรปัจจุบันของนักเตะไม่สามารถมองเห็นประวัติของนักเตะของพวกเขาได้ หรือฟังก์ชั่นแบล็กลิสต์สำหรับนักเตะ เพื่อทำให้ทีมเหล่านั้นมองไม่เห็นข้อมูลของพวกเขา
อาดเลอร์ กล่าวว่าแพลตฟอร์มของพวกเขาจะปกป้องข้อมูลของผู้ใช้เป็นอย่างดี และไม่เปิดเผยต่อบุคคลที่ 3 อย่างแน่นอน เนื่องจากเยอรมันมีกฎหมายที่เข้มงวดในเรื่องนี้ นอกจากนี้ตัวเขาเองและทีมงานยังไม่สามารถมองเห็นสโมสรที่เป็นเป้าหมายในการย้ายทีมของนักเตะหรือประวัติการค้นหานักเตะของสโมสรอีกด้วย
อย่างไรก็ดีอดีตนายด่านไบเออร์ฯ ยืนยันว่าพวกเขาไม่ได้ต่อต้านเอเยนต์ เพียงแต่เป็นการเสนอทางเลือกใหม่ และช่วยเพิ่มโอกาสในการหาสโมสรในประเทศที่เอเยนต์บางคนไม่ชำนาญ
“เราไม่ได้กำลังเลี่ยงการมีเอเยนต์หรือกำจัดพวกเขาออกไป ในทางกลับกันผู้เล่นหลายคนใส่ข้อมูลของเอเยนต์ลงไปในประวัติส่วนตัวด้วยซ้ำ” อาดเลอร์
“ตัวแทนบางคนอาจจะมีเครือข่ายที่ค่อนข้างเล็กในบางประเทศและมันทำให้ตัวเลือกของนักเตะมีจำกัด เราแค่อยากจะเพิ่มตัวเลือกให้กับนักเตะเหล่านี้ โดยเฉพาะในต่างประเทศ”
“แต่ทำให้ผู้เล่นได้เห็นว่ามีอะไรที่ดีกว่าอยู่ที่นั่น และทำให้ประตูของพวกเขาเปิดกว้างยิ่งขึ้น”
ไม่ได้มีส่วนช่วยนักเตะเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น เพราะแพลตฟอร์มนี้ยังช่วยให้สโมสรสามารถหานักเตะต่างชาติตามคุณสมบัติที่ต้องการได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพเอาชื่อสโมสรไปแอบอ้าง
“มันยังช่วยสโมสรอีกด้วย บางครั้งพวกเขาก็เหมือนผู้เล่นที่มีคนเป็นจำนวนมากมาอ้างว่าเป็นตัวแทนที่ได้รับการรับรองจากสโมสร และนั่นทำให้เรื่องนี้ซับซ้อนมากขึ้น” อาดเลอร์ กล่าวต่อ
“การที่สโมสรมีประวัติอยู่ในแอปฯ ทำให้ผู้เล่นสามารถเห็นว่าสโมสรไหนที่พวกเขาควรคุย ในแง่ที่พวกเขาต่างสนใจกัน มันช่วยเร่งความเร็วในเรื่องนี้จริง ๆ”
ก้าวสู่โลกดิจิตอลเต็มรูปแบบ
เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2021 และได้รับผลตอบรับที่ไม่เลว ด้วยจำนวนนักเตะเข้าร่วมลงทะเบียนกว่า 100 คน และสโมสรกว่า 50 ทีมจาก 10 ประเทศ รวมไปถึงทีมดังอย่าง ลีดส์ ยูไนเต็ด
มีวิธีการเข้าหาที่น่าสนใจมาก” บิคเตอร์ ออร์ตา ผู้อำนวยการฟุตบอลของทีมจากแคว้นยอร์กเชียร์
“เราเปิดใจให้กับแนวคิดและนวัตกรรมใหม่เสมอ มันน่าสนใจที่ได้เห็นว่าแพลตฟอร์มจะพัฒนาตัวเองในเดือนหน้าและปีหน้าต่อไปอย่างไร”
การเกิดขึ้นของแพลตฟอร์มนี้เป็นจังหวะที่พอดีกับสถานการณ์การระบาดของโควิด ที่ทำให้แต่ละทีมมีการจับจ่ายใช้สอยน้อยลงอย่างฮวบฮาบ ทั้งสโมสรชั้นแนวหน้าของยุโรปไปจนถึงทีมในลีกรอง
จากการรายงานประจำปีของ บริษัทตรวจสอบบัญชี ระบุว่ายอดการซื้อขายนักเตะในลีกสวีเดนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปีในช่วงปี 2016-2019 แต่กลับลดลงถึง 21 % ในปี 2020 ที่ผ่านมา
และก็จะเป็นตัวช่วยในสถานการณ์นี้ โดย อาดเลอร์ และ โชลเมเยอร์ บอกว่ามีนักเตะในลีกสวีเดนจำนวนไม่น้อยที่ลงทะเบียนกับแอปฯ ของพวกเขา
“เราเชื่อว่านี่คือโอกาสที่ดีสำหรับนักเตะ (สวีเดน) ที่อาจจะได้ไปเล่นในลีกระดับสองของเยอรมัน แล้วจากนั้นค่อยขึ้นมาเล่นในลีกสูงสุด” โชลเมเยอร์
“ผมเคยคุยกับนักเตะในดิวิชั่น 2 และ 3 ของเยอรมันหลายคน และพวกเขาก็สนใจที่จะไปเล่นในสวีเดน เนื่องจากวิถีการใช้ชีวิตและเรื่องของจิตใจที่ใกล้เคียงกับเรา” อาดเลอร์ เสริม
อาดเลอร์ มองว่าวงการฟุตบอลมักจะตามโลกไม่ทันและเป็นพวกล้าหลังอยู่เสมอไม่ว่ายุคไหน พวกเขาจึงหวังว่า จะช่วยเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของคนในวงการนี้
“มันเปิดโลกผมมากเลย ตอนที่รู้ว่ามันมีแพลตฟอร์มที่เหมาะสมอยู่ในพื้นที่ของชีวิต” อาดเลอร์ อธิบาย
“ทั้งการเดท อสังหาริมทรัพย์ หรืองาน แต่ฟุตบอลมันมักจะตามหลังอยู่เสมอ เมื่อเข้ามาอยู่ในโลกดิจิตอล และนี่ก็เป็นแนวทางในการคิดของพวกเรา เราหวังว่าจะช่วยเปลี่ยนมันได้”
แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการพยายามเป็นหนึ่งในเครื่องมือในการขับเคลื่อนวงการฟุตบอลให้รุดหน้าต่อไปในยุคที่หลายสิ่งอย่างเรื่องสกุลเงิน (คริปโต) การซื้อขายงานศิลปะ (NFT) สังคมเสมือน กลายเป็นดิจิตอลไปเป็นที่เรียบร้อย
เพราะไม่แน่ว่าวันหนึ่ง อาจจะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาวงการฟุตบอลให้ทันโลกและไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังเหมือนที่แล้วมาก็เป็นได้
“การคิดแบบดิจิตอลกลายเป็นสิ่งสำคัญมากขึ้น และการซื้อขายนักเตะก็กำลังถูกทำให้กลายเป็นดิจิตอลอย่างแน่นอน” อาดเลอร์ ทิ้งท้าย